วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะของปลากัดป่าหรือปลากัดลูกทุ่งที่ดีเลิศ

แม้ว่าภูมิประเทศเราอันเป็นที่อยู่อาศัยของปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่าจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเก่งกาจของปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่า ดังกล่าวก็ตาม แต่ถ้าได้พิจารณาถึงรายละเอียดของที่อยู่อาศัย และหวอด หรือฟองของปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่าอันเป็นมงคลอีกชั้นหนึ่งก็จะทำให้เราได้ปลาที่ดีเป็นเลิศที่เรียกกัน ตามภาษานักเลงปลากัดว่า "หัวหิ้ง" ก็ได้  วิธีสังเกตลักษณะอื่น ๆ ประกอบตามที่เชื่อกันมามี ดังนี้

     ลักษณะภูมิประเทศ และหวอดที่ดี
1. ที่อยู่ของปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่า ถ้าพบปลากัด "ก่อหวอด" หรือ "บ้วนฟอง" หรือ "กัดฟอง" อยู่ในที่ที่มีทางออกได้หลายทางเชื่อกันว่าปลากัดตัวนั้นเป็นปลาที่ฉลาด คือ มีชั้นเชิงในการกัดดีเป็นเลิศ
2. ลักษณะของหวอด หรือฟอง
- ถ้าหวอด หรือฟองพูน และเป็นก้อนกลม เชื่อกันว่าเป็นปลากัดที่มีน้ำอดน้ำทนมาก หรือที่เรียกกันว่า "ใจมาก"
- ถ้าหวอด หรือฟองเม็ดใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นปลาปากกว้าง ปากใหญ่ กัดคู่ต่อสู้ หรือฝ่ายตรงข้ามได้แผลใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า "คำใหญ่"
- ถ้าหวอด หรือฟองพูนเป็นยอดแหลม เชื่อกันว่าปลากัดนั้นดีเลิศในทุกประการ
     ลักษณะภูมิประเทศ และหวอดที่เลว
ปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่าที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีดินปนทรายไม่ใช่ดินเหนียว หรือดินโคลน มักเป็นปลาที่ไม่แข็งแรง หรือเรียกว่า ปลาขี้โรค คือ เกล็ดผุง่าย และกระดูกอ่อน
     นอกจากนั้นปลากัดตัวใดที่ก่อหวอด หรือกัดฟองไม่กลม ไม่นูน ฟองเล็ก หรือกัดฟองที่นั่นนิด ที่นี่หน่อย อย่างที่เรียกกันว่า "ฟองพ่น" เช่นนี้ถือกันว่าเป็นปลากัดชั้นเลวประเภทหนึ่ง

     ลักษณะของปลากัดที่ดีโดยทั่วไป
1. ลำตัวกลม รูปร่างเหมือนปลาช่อน หรือปลาชะโด
2. ลำตัวกลม รูปร่างเหมือนปลากะพง หรือปลาหมอ
3. หน้างอนเชิด ปากกว้าง ปากหนา
4. สันคอหนา
5. กระโดงใหญ่
6. โคนหาง หรือแป้นใหญ่
7. ตาเล็ก ตาดำ นัยน์ตาไม่ถลน หรือโปน เรียกว่า "ตาเรียด"
8. ไม้เท้า หรือ ตะเกียบ สั้น ใหญ่ และแข็งแรง
9. พุงดำ
10. หูน้ำใหญ่
11. เครื่องน้อย (ครีบ และหางไม่ยาวเกินไป)
12. ช่วงหน้าสั้น ช่วงท้ายยาว
13. สีไม่แพรวพราว (เฉพาะปลาลูกทุ่ง ลูกป่า)
14. เครื่องบาง เป็นปลาที่เคลื่อนไหวได้เร็ว กัดเร็ว ว่องไว
15. กระหม่อมสีอะไรก็ได้แต่ให้เหมือนสีตัวเป็นใช้ได้
16. เกล็ดหนา และเรียบแน่น
     ลักษณะที่เป็นมงคล หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นใต้ว่า "หว้า" มีดังนี้
1. หูน้ำแดง
2. เป็นปานดำที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
3. มีรูเล็ก ๆ ที่อวัยวะภายนอกในที่ใดที่หนึ่งแต่ไม่ควรมีเกิน 3 แห่ง เช่น อาจมีไม้เท้า ที่หาง หรือที่กระโดง ฯลฯ ลักษณะเช่นนี้เรียกตามภาษานักเลงปลากัดว่า "ล่องลม"
     ลักษณะที่ไม่ดีของปลากัดโดยทั่วไป
1. ลำตัวบาง ยาว ถือเป็นปลาที่ไม่แข็งแรง
2. ปากเล็ก ปากบาง
3. หัวสั้น หัวงอนลงล่าง
4. เครื่องมาก ที่เรียกว่า "เครื่องแจ้"
5. เครื่องแพร หางแพร ไม้เท้าแพร คือ เป็นสีที่แพรวพราวจนเกินไป แต่ถ้าเป็นปลากัดพันธุ์หม้อ หรือพันธุ์ทางก็ไม่ห้าม
6. แก้มแท่น หมายถึง เกล็ดที่แก้มเป็นแผ่นใหญ่ และมีสีแพรวพราว ส่วนมากมักเป็นสีเขียว
7. กระโดงสีแดง หรือ ที่เรียกว่า "โดงแดง" สำหรับปลากัดลูกทุ่ง ลูกป่า ถือว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดี คือ เป็นปลาใจน้อยดังคำห้ามที่ว่า "วัวลั่นดา ปลาโดงแดง อย่าแทงมาก" แต่ถ้าเป็นปลาพันธุ์ลูกหม้อ หรือพันธุ์ทางก็ไม่ห้าม
8. ตาโปน หรือตาถลน
9. แววตาเหมือนตาแมว หรือตางูสิง
10. เครื่องหนา หรือที่เรียกว่า "เครื่องทืบ" เป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้า ไม่ว่องไว ปราดเปรียว
11. โคนหาง หรือ แป้นเล็ก มักเป็นปลาที่ไม่ค่อยมีกำลัง
12. สันหลังขาว ที่เรียกว่า "หลังเขียด" เป็นปลาใจน้อย
13. ไม้เท้าสีขาวมาก มักเป็นปลาไม้เท้าอ่อน เป็นปลาที่ไม่แข็งแรง
14. หางดอก คือ หางที่มีจุดประทั่วไปในแพนหาง

ที่มา : http://www.bettanetwork.com/forum/redirect.php?tid=52577&goto=lastpost&sid=lNQTni

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น